Thursday 4 February 2010

เข้าไปในใจ

กับอีกเรื่องราวดีๆ ที่อยากแบ่งปัน
จาก http://www.thaiplumvillage.org/dharma_shared_003_01.html

เวลาที่เรา ต้องเข้าหาใครบางคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกเกร็ง ประหม่า ไม่แน่ใจว่าเขาจะเปิดรับเรามากแค่ไหน สำหรับฉันการเข้าหา อาจารย์ระพี สาคริก ครั้งแรกนั้นก็ไม่แตกต่างกัน ด้วยสำนึกว่าท่านเป็นอาจารย์ของใครหลายคน เคยเป็นทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยและรัฐมนตรี แถมท้ายด้วยชื่อสร้อยว่า "บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย" ทำให้อดเกร็งไม่ได้สำหรับการเข้าหาในฐานะคนไม่รู้จักกัน แม้ว่าฉันจะเคยพบอาจารย์อยู่บ้าง และรู้ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ใจดีก็ตาม

หลังจากไม่กี่ครั้งของการติดต่อ อาจารย์ระพีก็พูดผ่านสายโทรศัพท์ว่า"หมู่บ้านธรรมะเหรอ ได้สิ จะเข้ามาคุยวันไหนล่ะ สักกี่โมงก็ได้ ผมตื่นเช้า" คำอนุญาตที่เปิดกว้าง แม้จะไม่รู้ว่าเราคือใคร และหมู่บ้านพลัมคืออะไรทำให้ฉันและเพื่อนๆ ได้เข้าหาผู้ใหญ่ท่านนี้

เมื่อ มาถึงที่หมาย คนในบ้านเปิดประตูให้เราเดินเข้าไปเอง ชายชราท่านนี้เห็นพวกเราที่เดินเก้ๆ กังๆ ยกมือไหว้กันอย่างพร้อมเพรียงก็กวักมือเรียกให้เราเข้ามาในห้องทำงาน อาจารย์ทักทายและเชื้อเชิญให้เรานั่งตามสบาย พลางชี้ชวนดูรูปภาพฝีมือตัวเอง พร้อมอธิบายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมปิติว่า "เขียนภาพแบบนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย มันง่ายเพราะว่าทำแล้วสบายใจ" หลังจากนั้นอาจารย์ก็พาเราเดินชมบ้าน ห้องนอน ระเบียงห้อง บ่อเลี้ยงปลา ไปจนถึงเยี่ยมเยียนเจ้านกเขาชวาเพื่อนตัวน้อยที่ทำรังใกล้บ้าน "อย่างนี้มันดีนะ คนเป็นครูไม่มีความลับ เปิดให้หมดทุกอย่าง จริงๆ ก็เปิดใจนั่นแหละ" อาจารย์ระพีว่า "เมื่อ 2-3 วันก่อนเพิ่งออกรายการวิทยุธรรมะ เขามีพิธีกรถึงสามคน เราบอกซักได้เลย ยิ่งซักยิ่งดี ไม่ต้องกลัวโกรธ ซักให้จนเลย เขาบอกซักเท่าไหร่ก็ไม่จน (หัวเราะ) เราก็เลยคุยกันสนุก พวกหนูจะถามอะไรก็ถามได้เลยนะ" อาจารย์ระพีพูดเกริ่นเหมือนรู้ใจเรา บทสนทนาจากเด็กขี้สงสัยกับผู้ใหญ่หัวใจเปิดกว้างจึงเริ่มต้นขึ้น



วารสารฉบับนี้เราชวนคุยเรื่อง "ใจที่เปิดกว้าง" ค่ะ เลยอยากถามว่า ทำไมอาจารย์ถึงสามารถน้อมรับลูกศิษย์ ไปจนถึงพวกเราที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนอย่างเปิดใจได้อย่างไร

ตอนอยู่ เกษตรเด็กๆ ก็เรียกคุณพ่อ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้สอนหนังสือ แต่เด็กๆ ก็เรียกคุณปู่ ความเป็นครูไม่ได้สถิตในสถานศึกษา ถ้าเราทำความดีไว้ เขาก็อยากจะเป็นลูกศิษย์ ทีนี้เราก็จะเป็นลูกศิษย์เขาอีกที เขาเข้ามาหาเราด้วยใจ เราก็เรียนรู้จากเขา ถ้าเราไม่เห็นเขาเป็นครู เราก็โง่ เราไม่ควรจะเป็นผู้ใหญ่ ผมไปคุยกับเด็กที่โรงเรียนรุ่งอรุณ เราก็นั่งล้อมวงปูเสื่อกัน เขาเอาเก้าอี้มาให้ผมนั่ง ผมบอกว่าไม่นั่ง ผมจะนั่งกับพื้น เพราะเราเป็นผู้ใหญ่ เราควรจะนั่งต่ำกว่าเด็ก เขาก็ถามว่าทำไม เพราะกายมันต่ำใจมันถึงสูง เพราะใจมันสูงกายมันถึงต่ำ คนเราถ้าจิตใจไม่เป็นอิสระแล้ว กายกับใจเป็นเรื่องน่าคิด ถ้าต้องผูกติดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ตลอดเวลา จิตใจก็ไม่เป็นอิสระ

ผม เป็นอธิการบดี ผมนำลูกศิษย์ลงไปนอนกับพื้นดิน นอนกลางดินกินกลางทราย ทำงานช่วยชาวบ้าน ถามว่านักศึกษาและอธิการบดีทำไมลงไปทำอย่างนั้น หลายคนพยายามเอาลูกศิษย์ไปขังไว้ในฝา 4 ด้าน แล้วเขาจะคิดอิสระได้อย่างไร รักษาความจริงที่มีอยู่ในใจของมนุษย์นี่แหละคือรากเหง้าของธรรมะที่แท้จริง ขอให้รักษาไว้ให้ดี

ถ้า เรามีจิตใจที่เป็นอิสระ จิตที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐาน เห็นคนเป็นคน ถ้าเราไม่เห็นคนต่างกัน เราจะก็ไม่เห็นคนเหมือนกัน ภายนอกคนมีความหลากหลาย แต่ใจเราต้องเป็นหนึ่ง มองออกว่า ใช่แล้ว ทุกคนก็เป็นคนเหมือนกันหมด นี่ก็เพราะเราไม่ได้ไปติดอยู่กับความแตกต่าง ไม่ติดอยู่กับตำแหน่ง ไม่ติดอยู่กับอำนาจ ไม่ติดอยู่กับรูปแบบ เราก็จะเข้าใจ คำว่า "เข้าใจ" คือมันไหลเข้าไปอยู่ในใจ เมื่อเข้าไปอยู่ในใจแล้ว มันก็เงียบ นั่นคือขันติ คนที่บอกว่า เข้าใจแล้วๆ เขาไม่เข้าใจจริงๆ หรอก มันเลยต้องเด้งออกมาเป็นคำพูด ถ้าเข้าไปในใจจริงๆ มันจะเงียบ นั่นละผู้ถือขันติแล้วถึงบอก

ความ หลากหลายของมนุษย์เป็นครูสอนธรรมะให้เรา อันนี้ผมพูดในพิธีมงคลสมรสที่ผมเพิ่งไปมา ฝ่ายชายเป็นไทย ฝ่ายหญิงเป็นจีน-มาเลย์ คนนั่งฟังมีตั้งแต่รัฐมนตรี 4 ท่าน ไปจนถึงคนหลายชาติหลายภาษา เจ้าบ่าวเขาก็ไม่เชิญใคร แต่เชิญผมขึ้นไปพูด เพราะพ่อเขาเป็นเด็กค่ายอาสาที่ศรัทธาผม ผมก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำให้ลูกศิษย์ผิดหวัง วันนั้นผมไปพูดเรื่องความรัก ความรักอยู่ที่นี่นะ ไม่ใช่แค่รักทางเพศ หรือแค่คู่บ่าวสาว มันเป็นโลกทั้งใบ แต่ว่าโลกใบนี้มันอยู่ในใจของเราด้วย ไม่ใช่อยู่ข้างนอก ฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในใจต้องเป็นหนึ่งอยู่เสมอ และเข้าใจด้วยว่าสิ่งข้างนอกเป็นความหลากหลาย ใครมาทำตัวไม่น่าถูกใจ ไม่ชอบ เราก็เห็นธรรมชาติของเขา ใครมาชมเรา เราก็ไม่หลงไปกับธรรมชาติของเรา

หลัง จากนั้นก็มีทีเด็ด ผมตั้งใจจะไปเล่นไวโอลินให้ เพลงกล่อมวิวาห์ แต่คนไม่รู้หรอกว่าผมพกอะไรไปด้วย ผมไม่บอกใครทั้งสิ้นว่าผมพกเม้าท์ออร์แกนไปตัวหนึ่ง พอเล่นเพลงจบแล้วผมก็ควักขึ้นมาเล่นเพลงหนึ่งในร้อย ทุกคนตื่นเต้นใหญ่บอกว่า คุณพ่ออายุ 87 แล้วยังเล่นได้หรือ ห่วงผมจะเป็นลม แต่พอเล่นเสร็จแล้วบอกว่าคุณพ่อเล่นได้เพราะมากเลย รัฐมนตรีทุกคนบอกว่าคุณพ่อนี่เยี่ยมเลยนะ หาคนพูดอย่างนี้ยาก มันเป็นสิ่งที่ทุกชาติทุกภาษานำไปปฏิบัติได้หมด ผมช่วยลูกศิษย์อย่างนี้ล่ะ ทั้งหมดก็เพราะสติตัวเดียวเท่านั้น

ฉะ นั้นพุทธรรมไม่ได้หมายถึงพุทธศาสนา พุทธองค์ตรัสไว้ว่าธรรมะไม่ใช่ของเรา ธรรมะมีอยู่แล้ว เราไม่ได้เป็นเจ้าของ ผมก็ไม่ใช่คนเข้าวัด วัดเป็นเพียงเครื่องมือ ถ้าเรารักที่จะทำ เราซื่อสัตย์ต่อตนเอง เราก็จะพบธรรมะได้ในทุกเรื่อง และในที่สุดเราก็จะรู้ การศึกษาสอนให้คนมีความรู้แต่ไม่ได้ให้รู้เท่าทัน การรู้เท่าทันต้องรู้เท่าทันตนเองก่อนถึงจะรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่ข้างนอกได้ ผมถึงบอกว่าวัดเป็นสิ่งสมมุติ ตอนพระพุทธองค์ตรัสรู้ท่านมีวัดไหม ไม่มี ท่านอยู่บนพื้นดิน ฉะนั้นธรรมะในใจนี่ล่ะของจริง เรียนรู้ธรรมะจากปัญหาคือของจริง คนมายกย่องว่าผมเป็นนักปราชญ์ มันคือเรื่องของคนอื่น เพราะผมก็ยังเป็นคนเดินดินธรรมดา

ทำไมอาจารย์ถึงสามารถติดดินได้ทั้งๆ ที่เป็นอธิการบดี แต่ก็ยังใจดี ใจเปิดกว้าง

คุณ รู้หรือเปล่า ผมไม่ใช่อธิการฯ คนอื่นเขามองผมเป็นอธิการฯ ผมก็เป็นคนเดินดินเหมือนทุกคน ผมเป็นอธิการบดีที่นำลูกศิษย์ลงไปนอนอยู่กับชาวบ้าน พอผู้ว่าราชการจังหวัดเขารู้ว่าวันนี้อธิการบดีจะมาออกค่าย เขาก็ไปถามหาตามตัวอธิการบดี ปรากฏว่าผมนอนหลับอยู่บนกระสอบข้าวสาร เพราะเป็นเวลาพักเที่ยงวัน ถ้าเป็นเวลาอื่นผมก็จะทำงานกับเด็กเทปูน แบกปูน แบกปุ๋ย ฟันดิน ทำทุกอย่างกับพวกเขา

มี เรื่องหนึ่งอยากเล่าให้ฟัง เด็กที่ทำงานค่ายอาสาด้วยกัน เขาลงไปแม่น้ำมูลแล้วถูกทรายแม่น้ำดึงลงไป ผมอุ้มเด็กขึ้นมาพาเขาไปส่งโรงพยาบาล กว่าจะรู้ว่าแกตายจากไปก็เป็นเช้าอีกวัน คนอื่นเป็นห่วงว่าคุณพ่อจะเป็นอย่างไร แต่ผมเรียนรู้สัจธรรมจากสิ่งเหล่านี้ จิตแข็งมากๆ ไม่มีอะไรที่จะมากลืนได้ จนถึงวันนี้ผมก็ยังเป็นคนเดินดินอยู่นั่นแหละ ความเข้มแข็งในจิตใจสำคัญที่สุด

ผมเขียนบทความหนึ่งว่า "ตำราเล่มนี้มีวิญญาณ" คนมักหลงว่าตำรานั้นอยู่ในตัวหนังสือ อยู่ในกระดาษ แต่ตำราจริงๆ มันอยู่ในนี้ (ชี้เข้าตัวเอง) มันไม่ได้อยู่ข้างนอก การศึกษาทำให้คนหลงติดอยู่กับตำรา หลงติดอยู่กับปริญญา หลงติดอยู่กับเสื้อครุย ไม่ได้ให้คนค้นหาความรู้จริงที่อยู่ตรงนี้ เมื่อปฏิบัติแล้ว เราจะรู้ว่าถ้าใจเราแข็งเสียหน่อยเท่านั้น เราจะพบว่าตำราของจริงมันมีอยู่ที่นี้

แต่ เวลานี้เรายังสับสนอยู่ หลายคนมักพูดว่า อย่าพูดอะไรเป็นนามธรรม ช่วยเป็นรูปธรรมได้ไหม แต่จริงๆ ที่คุณเข้าใจมันไม่ใช่รูปธรรม แต่มันเป็นรูปแบบ รูปธรรมคือสิ่งที่คิดขึ้นได้เอง ธรรมะอยู่ในใจ รูปธรรมก็ต้องออกมาจากใจ เป็นรูปร่างลักษณะ เป็นรูปธรรมของเรา แต่เมื่อบอกออกไปแล้วมันไม่ใช่เป็นรูปธรรมของเรา มันเป็นรูปแบบของคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเรียกร้องหามัน เราก็จะได้แต่รูปแบบ นี่ละ เมื่อคนยังพึ่งตนเองไม่ได้เขาก็จะเรียกหารูปธรรม แต่ความจริงเขาได้เพียงแต่รูปแบบซึ่งจะยิ่งไปกันใหญ่ คนเป็นครูต้องรู้จักทางสายกลาง อะไรควรกล้า อะไรไม่ควรกล้า อะไรควรบอก อะไรไม่ควรบอก บางอย่างคุณต้องกล้าหาเอง บางครั้งคนเราก็ต้องทรมานกันบ้างเป็นธรรมดา เพราะการเรียนรู้มันต้องมาจากความทุกข์ก่อน เราจึงจะไปพบความสุข

อยากรู้ว่าอาจารย์ฝึกใจอย่างไรให้เข้มแข็ง

มันตั้งแต่เกิดนะ ทีจริงเขาเรียกว่า "บุญเก่า" เกิดมาถ้าไม่มีบุญเก่า กรรมเก่า เราเกิดไม่ได้หรอก จิตวิญญาณของเรามีอยู่แล้ว เงื่อนไขจึงอยู่ในนั้น ใจเรามาจากไหนล่ะ มันไม่ใช่อยู่ๆ ก็ลอยมา ฉะนั้นร่างกายถึงต้องมีจิตใจ

ถ้า เราอยากให้จิตเข้มแข็ง มันก็จะไม่เข้มแข็ง เพราะมันคือการเอาความอยากเอาเข้าไปใส่ อย่าเอากิเลสเข้าไปใส่ ละกิเลสเสีย มันก็จะเข้มแข็งเองแหละ

สนใจ คำของอาจารย์ที่บอก "เข้าไปในใจ" เวลานี้คนในสังคมดูเหมือนจะโกรธกันและกันมากจนแทบฆ่ากันตาย คำว่า "เข้าไปในใจ" จึงดูยากเหลือเกิน

ผม จะบอกว่าความยากความง่ายไม่มีในโลกแห่งความจริง หมายความว่าอย่างไร ยากก็หมายความว่าคุณไม่มีความวิริยะอุตสาหะ คุณขี้เกียจที่จะคิด ขี้เกียจที่จะทำหรือเปล่า ส่วนง่ายก็คือความประมาท คิดว่าไอ้นี่มันง่าย จะทำเมื่อไรก็ทำได้ เพราะฉะนั้นความจริงอยู่ในใจเราเท่านั้นเอง นี้คือรากเหง้าของการเรียนรู้ของมนุษย์

ความหมายของคำว่า "เข้าใจ" มันอยู่ที่ไหน เข้าใจแล้วก็ต้องถือขันติ คือเมื่อเราพบความจริงอยู่ในใจ เรายอมรับความจริงจากข้างนอก ใจเราก็จะเงียบ เพราะมันเข้าไปจริงๆ เหตุผลที่คนพูดว่า เข้าใจแล้วๆ แต่ไม่เข้าใจจริงๆ ก็เพราะว่า มันเข้าไปแล้ว แต่มันไม่เข้าไปในใจ มันจึงต้องกระเด้งออกมา แล้วทำไมไม่เข้าใจ ก็เพราะใจคุณปิดอยู่ คุณปิดใจตัวเองด้วยอคติ ปิดด้วยกิเลสใช่ไหม จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายนะ เพราะฉะนั้นมันมีทั้งสองด้าน ไม่มียาก ไม่มีง่าย ที็เหลืออยู่ก็คือความจริงเท่านั้นแหละ

ขอบคุณค่ะ

ขอบ คุณมากเช่นกัน มักมีคนมาขอพรปีใหม่ช่วงสงกรานต์ ผมก็จะบอกว่า ผมไม่บังอาจไปให้พรกับใครได้ มีแต่ให้กำลังใจกัน เพราะพรมันอยู่ในตัวคุณแล้ว คุณทุกข์เมื่อไรก็ค้นหาที่นั้นแล เมื่อคุณเข้าใจ คุณก็จะละความทุกข์ได้ พรสวรรค์มันอยู่ในตัวคุณแล้ว อย่าไปทำลายมันก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นจึงให้แต่กำลังใจ ผมไม่เคยละโอกาสที่จะให้กำลังใจ เพราะฉะนั้นเมื่อพบคนที่ทำสิ่งที่ดีงามอยู่ที่ไหน แม้จะไม่รู้จักกัน ผมก็จะเขียนจดหมายไปหาเขา คนเขาตอบกลับมาอย่างแปลกใจว่า อาจารย์กับเขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทำไมเขียนถึงเขา และผมก็ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดชีวิต



เมื่อ จบบทสนทนา อาจารย์ระพีชวนเราเข้ามาในห้องทำงานอีกครั้ง ท่านยืนสีไวโอลินให้พวกเราฟังด้วยมืออันสั่นเทา น้ำเสียงที่อ่อนหวานเหล่านั้นได้ซึบซาบเข้าไปในใจของเราแต่ละคน มันอ่อนโยน อบอุ่น และให้กำลังใจอยู่ในที ...๐




สัมภาษณ์และเรียบเรียง : วรจิตรา
ถอดความ : เจริญ ตรงวรานนท์ – จิตตปัญญา
ภาพ : จิตราอุเบกขา

No comments:

Post a Comment